ยินดีต้อนรับทุกท่านนะค่ะ โอกาสหน้าแวะมาเยี่ยมเราอีกนะค่ะ ที่นี้เลย www.happy-222.blogspot.com

2552/02/21

ความฝัน คืออะไร


ความฝัน คือ ประสบการณ์ของภาพ เสียง ข้อความ ความคิด หรือความรู้สึกในขณะที่กำลังนอนหลับ โดยผู้ที่ฝันส่วนใหญ่ไม่สามารถควบคุมได้

ความฝันมักจะเต็มไปด้วยความคิดในด้านต่างๆ ซึ่งความฝันสามารถเกิดได้ตั้งแต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคมจนถึงเรื่องเหลือเชื่อ รวมไปถึงเรื่องสนุกสนาน เรื่องตื่นเต้น เรื่องน่ากลัว เรื่องเศร้า ที่เรียกว่า ฝันร้าย และในบางครั้งความฝันจะมีเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีผลต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอาการฝันเปียกในผู้ชาย หลายๆครั้งที่ความฝันเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกทั้งทางด้านจิตใจและทางด้านศิลปะให้แก่ผู้ที่ฝัน

นักวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษาความฝันโดยอ้างอิงกับการเคลื่อนไหวของดวงตาขณะนอนหลับ (rapid eye movement, REM) การกระตุ้นของต่อมponsส่วนประกอบส่วนหนึ่งของก้านสมอง หรือการเปลี่ยนแปลงของการเต้นของหัวใจ

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า คนทุกคนเฉลี่ยแล้วจะมีความฝันในปริมาณที่เท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าบางคนจะรู้สึกว่าไม่ได้ฝันหรือนานๆทีจะได้มีความฝัน นั่นเพราะสาเหตุที่ว่าความฝันของบุคคลนั้นจางหายไปเมื่อตื่นนอน ความฝันมักจะเลือนหายถ้าสถานะของการฝันของบุคคลนั้นค่อยๆเปลี่ยนจาก สถานะอาร์อีเอม เป็นสถานะเดลต้า และตื่นนอน ในทางกลับกันถ้าบุคคลนั้นตื่นขึ้นขณะที่อยู่สถานะอาร์อีเอม (เช่นตื่นโดยนาฬิกาปลุก) บุคคลนั้นมักจะจำเรื่องที่ฝันได้ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกความฝันที่จะถูกจำได้

ความฝัน จากภาคนักจิตวิทยา

"ต้องเข้าใจก่อนว่า ฝันมันมีประโยชน์อย่างไร" คือความต้องการแรกที่ "นายแพทย์ สุจริต สุวรรณชีพ" ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตยกขึ้นมาเป็นประโยคนำ

ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาอธิบายต่อว่า ถ้าคนไม่ฝันจะตกอยู่ในภาวะกดดัน เพราะความฝันทำให้คนหลับต่อได้ โดยเลือกจะตื่นเป็นเฉพาะกรณี เช่น ฟ้าร้องไม่ตื่น แต่นำไปฝันแทน ลูกร้องถึงตื่น ส่วนที่สองคือความฝันที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ คือ คนเราฝันเพื่อให้ความหวัง สนองความต้องการในชีวิตประจำวันที่ไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นการทำให้จิตใจผ่อนคลายได้ส่วนหนึ่ง สรุปแล้ว ฝันเป็นกลไกทางจิต เพื่อช่วยลดความตึงเครียดในขณะที่กำลังตื่น

เล่าต่อหลังจากนั้น จิตแพทย์นำเราเข้าสู่ต้นเหตุแห่งการฝันตามหลักการทางจิตเวช โดยแบ่งต้นเหตุของความฝันออกเป็น 3 ส่วน และหากตัดเรื่องเทวดาเรื่องเหนือธรรมชาติออกก็ยังมีสาระบางส่วนคล้ายคลึงกับคัมภีร์ฝันของคนในสมัยก่อน

ต้นเหตุที่หนึ่ง เป็นฝันที่มาจากความเจ็บปวดของร่างกาย และฝันโดยมีสิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นตัวกระตุ้น เช่น ฝันว่าปวดปัสสาวะ ฝันจากทีวีที่เปิดทิ้งไว้ เสียงฬาร้อง เสียงฝน เสียงแตรรถ สองคือ ฝันต่อจากเรื่องค้างคาในชีวิตประจำวันที่ยังทำไม่จบ ยังตัดสินใจไม่ได้ ยังไม่ประสบความสำเร็จสมหวัง และข้อท้ายสุด คือ ฝันอันเนื่องมาจากเรื่องที่เจ็บช้ำ ฝังใจ บีบคั้น เสียหาย และถูกกดไว้ให้ลืมมาตั้งแต่ในอดีต

นายแพทย์สุจริต ยกตัวอย่างการวิเคราะห์ฝันตามทฤษฎี ซิกมันด์ ฟรอยด์ ด้วยว่า รูปแบบของความฝันจะผันแปรเปลี่ยนไปเป็นสัญลักษณ์บางอย่าง

"ความฝันเป็นความคิดต่อเนื่องจากขณะที่เราตื่น เพื่อคิดให้มันจบให้มันสมหวังในความฝัน ฝันละเมอ ฝันดังไปหน่อย ก็เป็นเรื่องที่ค้างคาอยู่ในใจเหมือนกัน... ฝันว่าเข้าสอบไม่ทัน ขาดนั่นขาดนี่ เปิดข้อสอบมาแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง แสดงว่าช่วงนั้นมีความกดดันมาก เวลาที่เรามีความกดดันเราจะหวนไปฝันเรื่องที่เคยอยู่ในสถานการณ์กดดันในอดีต อย่างผู้ชายฝันว่ารถหายซ้ำๆ ปรากฏว่าเมื่อก่อนขับรถไปรับส่งแฟนทุกวัน แต่พอเลิกราก็รู้สึกเสียใจฝังใจ พอเกิดความไม่สบายใจเจ็บช้ำเมื่อไหร่ก็ฝันว่ารถหาย แล้วจะไม่ได้คืนอีก ...ความกลัวที่ฝังใจ ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้ายมาในอดีต ถูกข่มขืน หรือเกิดความสูญเสีย ฝันร้ายก็จะออกมาว่าถูกสัตว์ร้ายขย่มขู่ไล่ล่าอยู่เรื่อยๆ ...ฝันเห็นงู แล้วจะได้คู่ ตามจิตวิเคราะห์ งูเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชาย แต่ฝันตรงๆ ไม่ได้มันน่าเกลียดไป จึงเบี่ยงเบน ไม่ฝันให้ตรงไปตรงมา และออกมาเป็นรูปแบบสัญลักษณ์"

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า "คนเราฝันกันทุกคืน แต่มีช่วงนิดเดียวเท่านั้นที่จะจำฝันได้คือก่อนตื่น และการฝันก็เป็นอาการที่บ่งบอกว่า คุณกำลังหลับไม่สนิท เพราะหากหลับลึกจริงๆ แล้วจะจำฝันไม่ได้"

ทางด้าน จิตแพทย์ของโรงพยาบาลกรุงเทพ "ผศ.ดร.นพ. ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข" เขาเริ่มเรื่องของความฝันในทางวิทยาศาสตร์ว่า ปกติทุกคืนที่คนนอนหลับ จะฝันเป็นรอบๆ ช่วงละประมาณ 5 – 6 ครั้งต่อคืน ทุกๆ 90 นาทีจะมีการฝัน โดยแบ่งการนอนออกเป็นระดับตื้น ระดับลึก การฝัน และเป็นวัฏจักรหมุนเวียนต่อไปเรื่อยๆ เขาบอกว่า แต่จะมีเพียงฝันที่กระแทกอารมณ์เท่านั้นที่จะอยู่ในความทรงจำไปถึงตอนเช้า ส่วนยานอนหลับ ยากล่อมประสาททางเภสัชวิทยา จะทำให้เวลาของการฝันสั้นลง และทำให้คนรู้สึกว่าหลับสนิทขึ้น

"จริงๆ เราไม่รู้มากนักว่าทำไมคนเราถึงฝัน แต่ฝันเป็นช่วงสำคัญในการย่อยข้อมูล หรือจัดเก็บข้อมูลของความทรงจำที่เกิดขึ้นในเวลากลางวันให้เป็นระบบ ...ส่วนความฝันในทางจิตวิทยามันเกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล ไม่เชื่อมโยงกันเลย มันเกิดขึ้นโดยเอาเรื่องแพะมาชนแกะ ถ้าคนฝันในลักษณะที่ตื่นอยู่เราจะเรียกว่า เสียสติ เพราะไม่อยู่ในโลกแห่งความจริง ไร้เหตุผลและความเป็นไปได้ คนโรคจิตจะเป็นแบบนี้"

ส่วนอีกมุมหนึ่งของจิตวิเคราะห์ จิตแพทย์ประกอบ บอกว่า "ความฝันเป็นสิ่งที่โผล่ออกมาจิตใต้สำนึก ในเวลาที่จิตสำนึกอ่อนแรง"

"เรามีความทรงจำฝังลึกในอดีตอย่างไร บางทีเมื่อจิตใจอ่อนแอ ไม่สามารถจัดเก็บความฝันได้ มันก็จะโผล่ออกมา สิ่งที่เจอบ่อยๆ คือ เป็นความขัดแย้งในจิตใจ ที่มิอาจจะโต้ตอบได้ ภาพที่เห็นจะบ่งบอกสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง ภาพที่มีในฝันจะบ่งบอกได้ว่าภาพใดหมายถึงอะไร ...ความฝันบางทีหาสาเหตุทางจิตใจไม่ได้ แต่กลับบ่งบอกถึงภาวะความเจ็บป่วยทางร่างกาย กรณีตัวอย่างเช่น คนไข้รายหนึ่งฝันซ้ำๆ ว่าเจ็บหลังมานาน หลังจากนั้น 6 เดือนตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตรงจุดที่ฝันพอดี หรือ คนไข้ฝันซ้ำซากว่ามีแมลงอะไรมาไต่ที่แขน ต่อมา 2 ปีให้หลังพบว่าเป็นมะเร็งผิวหนังตรงจุดที่ฝัน เราจึงพบว่าบางทีความฝันมันบอกโรคได้เหมือนกัน ...ส่วนฝันซ้ำๆ ทั่วไป ถ้าเอาด้านจิตวิเคราะห์มาอธิบาย คือ ความขัดข้องความขัดแย้งมันยังไม่ถูกแก้ไข เพราะฉะนั้นมันเลยได้แต่ฝันๆๆ" เขาเล่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น